ประวัติ ของ เจ้าจอมมารดากลิ่น ในรัชกาลที่ 4

พื้นเพเดิม

เจ้าจอมมารดากลิ่น เป็นธิดาพระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) ขุนนางเชื้อสายมอญ[1] ซึ่งบิดาเป็นบุตรของเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ คชเสนี)[2] ส่วนทวดของเจ้าจอมมารดากลิ่นคือ เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) หรือ พระยาเจ่ง อดีตเจ้าเมืองเตรินที่คับข้องใจจากการกดขี่ของพม่าและได้อพยพเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์สยาม เป็นต้นสกุลคชเสนี[3] และมีลูกหลานรับราชการสนองพระเดชพระคุณสืบมา โดยตระกูลได้เป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์ (ปัจจุบันคืออำเภอพระประแดง)[4] เรื่อยมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[5]

พระสนม

พระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) ถวายตัวเข้ารับราชการในมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนได้รับบรรดาศักดิ์และเป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์[4] ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ถวายตัวธิดาคือ กลิ่น หรือ ซ่อนกลิ่น เข้ารับราชการฝ่ายใน และได้เป็นเจ้าจอมมารดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ (ประสูติ: 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2398 — สิ้นพระชนม์: 10 สิงหาคม พ.ศ. 2468) ต้นราชสกุล “กฤดากร ณ อยุธยา”[2]

แม้ว่าเจ้าจอมมารดากลิ่นจะเป็นพระสนมเอก[1] และไม่ปรากฏหลักฐานเรื่องความสนิทเสน่หากับพระราชสวามีมากนัก แต่จากหลักฐานงานบันทึกของแอนนา ลีโอโนเวนส์ได้กล่าวว่า "เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นไม่ใคร่จะเป็นที่โปรดปรานนัก เนื่องจากทรงระแวงญาติพี่น้องที่มีเชื้อสายมอญว่าจะไม่ซื่อสัตย์ภักดีต่อแผ่นดินไทย"[6] ถึงกับเคยลงโทษเจ้าจอมมารดากลิ่น เมื่อครั้งเจ้าจอมมารดากลิ่นทูลขอให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงแต่งตั้งพี่ชายของเจ้าจอมมารดากลิ่นเป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์แทนเจ้าเมืองคนก่อนที่เสียชีวิต ทั้งที่พระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งบุคคลอื่นไปแล้วก่อนหน้า เจ้าจอมมารดากลิ่นจึงถูกระวางโทษด้วยข้อหาบ่อนทำลายพระราชอำนาจด้วยการจำขัง เมื่อแอนนา ลีโอโนเวนส์ทราบเรื่อง เธอจึงไปขอร้องสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ช่วยกราบทูลพระราชทานอภัยโทษแก่เจ้าจอมมารดากลิ่น ซึ่งปรากฏในจดหมายพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ส่งถึงนางลีโอโนเวนส์ว่า "ป.ล. 2 ฉันขอแจ้งให้เธอทราบว่าฉันได้ให้อภัยโทษแก่ คุณกลิ่น นักเรียนของเธอ ตามคำขอร้องของสมเด็จเจ้าพระยาแล้ว"[5]

ปัจฉิมวัย

ท่านมีความเคร่งครัดมากในอัตลักษณ์ความเป็นมอญ ซึ่งในวังกรมพระนเรศวรวรฤทธิ์ก็ใช้ภาษามอญ กินอาหารมอญ รวมทั้งกรมพระนเรศร์วรฤทธิ์เองก็ทรงเจาะหูตามธรรมเนียมมอญ[4] กล่าวกันว่าเจ้าจอมมารดากลิ่นได้ไปถวายงานพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี และได้ถ่ายทอดการทำข้าวแช่ซึ่งเป็นอาหารมอญแก่บ่าวไพร่จนแพร่หลายในจังหวัดเพชรบุรีและในราชสำนัก[7] นอกจากนี้เจ้าจอมมารดากลิ่นยังเป็นผู้มีความเมตตา ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่า ความว่า "...เมื่อ พ.ศ. 2466 มารดาของข้าพเจ้าถึงอสัญกรรม วันหนึ่งกรมพระนเรศวรฤทธิ์เสด็จมาเยี่ยมด้วยกันกับเจ้าจอมมารดากลิ่น เมื่อนั่งอยู่ด้วยกันหน้าศพ คุณจอมมารดากลิ่นเห็นข้าพเจ้าเศร้าโศก ท่านสงสารออกปากว่า 'เสด็จต้องเป็นกำพร้า ฉันจะรับเป็นแม่แทนแม่ชุ่มจะโปรดหรือไม่' ข้าพเจ้าได้ฟังท่านแสดงความกรุณาเช่นนั้นจับใจ ก็กราบเรียนในทันทีว่า 'ดี ฉันขอเป็นลูกคุณแม่ต่อไป' แต่วันนั้นมาคุณจอมมารดากลิ่นท่านก็แสดงความเมตตาปรานีอุปการะข้าพเจ้าเหมือนเช่นเป็นบุตรของท่าน ฝ่ายข้าพเจ้าก็ปฏิบัติบูชาท่านมาเหมือนเช่นเป็นมารดา"[8]

เจ้าจอมมารดากลิ่นถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สิริอายุ 91 ปี[9]พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2469[1]